Health

  • โรคข้อเสื่อม อาการยอดฮิตของผู้สูงวัย
    โรคข้อเสื่อม อาการยอดฮิตของผู้สูงวัย

    โรคข้อเสื่อมปัญหาหลักที่พบมากสุดในผู้สูงอายุ โดยประเทศไทยพบผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมถึงร้อยละ 50 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งนับเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ ผู้ที่มีภาวะข้อเสื่อม หากไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม อาการของโรคจะดำเนินไปเรื่อย ๆ อาจทำให้เจ็บปวด ข้อเข่าผิดรูป เดินได้ไม่ปกติ ส่งผลให้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ไม่สะดวก เกิดความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจตามมา

    โรคข้อเสื่อม คืออะไร
    ข้อเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพ หรือ เกิดการสึกกร่อนบางลงของกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งมักจะเกิดกับข้อที่ต้องรองรับน้ำหนักค่อนข้างมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ฯลฯ โดยกระดูกอ่อนผิวข้อนี้จะถูกทำลายลงอย่างช้า ๆ จนมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่โครงสร้างของข้อเข่า เกิดน้ำสะสมในข้อเข่าเพิ่มมากจากการอักเสบขึ้นจนทำให้ข้อบวม พบกระดูกงอกผิดปกติที่ขอบหรือที่มุมข้อ พบกล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อเข่าหย่อนยาน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของข้อที่กล่าวมาข้างต้น จะส่งผลให้การเคลื่อนไหวของข้อได้ลดลงและทำให้เกิดอาการปวด

    โรคข้อเสื่อม

    สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม
    โรคข้อเข่าเสื่อมนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่ทำให้ผิวกระดูกอ่อนที่ข้อเข่าเสื่อมลงและสึกหรอ มีดังนี้

    อายุเพิ่มมากขึ้น
    สาเหตุแรกที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม คือ อายุที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผิวกระดูกอ่อนที่ข้อเข่านั้นได้มีการเสื่อมสภาพ รวมถึงสึกหรอจากการใช้งานข้อเข่าตลอดช่วงอายุ จึงส่งผลให้มักพบโรคนี้ในกลุ่มผู้สูงอายุได้มากกว่าผู้ที่มีอายุน้อย

    น้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์
    น้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่าย เพราะข้อเข่าของผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์นั้นจะต้องรับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น และผิวกระดูกอ่อนที่ข้อเข่านั้นได้รับการเสียดสีมากกว่าปกติ จึงส่งผลให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ

    กิจวัตรประจำวัน
    สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมที่หลาย ๆ คนมักจะมองข้าม คือ การใช้ชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดแรงกดที่ข้อเข่า ไม่ว่าจะเป็นการเดินขึ้น-ลงบันได, ยกของหนักอยู่บ่อยครั้ง หรือใช้งานข้อเข่าอย่างหนักเป็นเวลานาน รวมถึงการนั่งบนพื้น, นั่งพับเพียบ, นั่งยอง หรือการย่อเข่าบ่อย ๆ ก็เป็นอีกกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

    เคยประสบอุบัติเหตุ
    สำหรับผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุมาก่อนนั้นมีโอกาสที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่เคยประสบอุบัติเหตุมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า เช่น ผู้ที่ได้รับประสบอุบัติเหตุจนกระดูกบริเวณหัวเข่าหัก, ข้อเข่าเคลื่อนหลุด, กระดูกสะบ้าเข่าหัก, เส้นเอ็นไขว้หน้าของข้อเข่าฉีกขาด หรือหมอนรองเข่าฉีกขาด เป็นต้น

    โรคประจำตัว
    โรคประจำตัว เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมเช่นกัน โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับข้ออักเสบ เช่น โรคเก๊าท์ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับข้อเข่า หรือข้ออักเสบ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว

    ช่วงอายุที่มักเกิดภาวะข้อเสื่อม
    มักพบได้บ่อยในช่วงวัยกลางคน (40 ปีขึ้นไป) และจะพบโรคนี้มากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในวัยสูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีปัจจัยบางอย่าง เช่น อาชีพที่ทำงานหนัก ความอ้วน ฯลฯ ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมความสมดุลของเซลล์กระดูกอ่อนได้ ทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง จนเกิดภาวะข้อเสื่อมในที่สุด

    อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
    โดยทั่วไปแล้ว อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมมักจะค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และความรุนแรงของโรคก็จะค่อย ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปด้วยเช่นกัน

    ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม มักรู้สึกปวดเข่าขณะเดิน ขึ้นลงบันได นั่งยอง ๆ หรือนั่งขัดสมาธิ ผู้ป่วยมักจะนั่งพับเพียบไม่ได้ เพราะมีอาการปวด บางครั้งเดินอยู่ก็มีอาการเข่าทรุด เพราะปวดเสียวในเข่า

    ไม่สามารถขยับเข่าหรือเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่ อาจเหยียดหรืองอเข่าได้ไม่สุด รู้สึกตึงข้อ และมีอาการข้อติดขัด ไม่คล่องแคล่ว

    รู้สึกปวดตื้อ ๆ เจ็บแปลบ เจ็บเสียวตามแนวบริเวณข้อเข่า ความรู้สึกปวดนี้มีแนวโน้ม จะเป็นมากขึ้นตามลักษณะการทำลายผิวข้อที่มากขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะรู้สึกทุเลาจากอาการปวดเป็นระยะ ๆ ระหว่างที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม กระดูกก็จะถูกทำลายมากขึ้น ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดเท่าเดิมหรือมากขึ้นกว่าเดิมเป็นระยะ ๆ แต่เมื่อไหร่ที่โรคข้อเข่าเสื่อมลุกลามมากขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการปวดและขยับข้อได้ลดลง

    ในระยะสุดท้ายของโรค ขาของผู้ป่วยเริ่มมีการผิดรูป และมีอาการเจ็บปวด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมเดินไม่ได้ผู้ป่วยอาจมีอาการขัดในข้อ ข้อยึด ขยับลำบาก โดยมักเป็นขณะนั่ง หรือนอนกับที่เป็นเวลานาน ๆ แต่เมื่อขยับข้อระยะหนึ่งจะรู้สึกคล่องขึ้น หากปล่อยไว้นานไม่ทำการรักษา อาจจะรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถเดินได้ เพื่อการรักษาข้อเข่าให้อยู่กับเราได้อีกนาน หากมีอาการควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

    แนวทางการรักษา
    ฉีดยาสเตียรอยด์
    การฉีดยาสเตียรอยด์ เป็นวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่มักจะใช้ในผู้ป่วยที่ข้อเข่ามีอาการอักเสบแบบเฉียบพลัน หรือผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการทานยา โดยยาสเตียรอยด์นั้นจะช่วยลดอาการอักเสบ บวม และแดงได้อย่างรวดเร็ว แต่ว่าฤทธิ์ยาจะอยู่ได้ในระยะสั้น แต่ก็มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่นอาจเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ไม่ใช้ยาฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อเข่าต่อเนื่องซ้ำหลาย ๆ ครั้ง หรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้น การฉีดยาสเตียรอยด์จึงเลือกใช้ในกรณีที่จำเป็น หรือตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

    ฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียม
    การฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียม เป็นวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่ใช้ในผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแรกจนถึงปานกลาง โดยการฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมนั้นสามารถช่วยลดอาการปวดของผู้ป่วยได้ เพราะว่าน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมจะช่วยเพิ่มความหล่อลื่นให้กับข้อเข่า และช่วยลดแรงกระแทกบริเวณข้อเข่าได้ในบางส่วน ซึ่งน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมจะออกฤทธิ์ เพื่อช่วยลดอาการปวดช้ากว่ายาสเตียรอยด์ แต่ว่าสามารถช่วยลดอาการปวดได้นานกว่า

    ยากลุ่มนี้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินยาแก้ปวดอักเสบได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาเกิดขึ้น หรือมีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถกินยาได้ ซึ่งยาฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมมีหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่จะฉีดยาเข้าข้อสัปดาห์ละ 1 เข็ม โดยมีชนิดยาที่ฉีดตั้งแต่ 1 – 5 เข็ม

    ฉีด PRP (Platelet Rich Plasma)
    การฉีด PRP (Platelet Rich Plasma) หรือที่หลาย ๆ คนอาจจะเรียกว่าการฉีดเกล็ดเลือด เป็นวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการนำเลือดของผู้ที่รับการรักษามาปั่น เพื่อแยกเกล็ดเลือด และสารช่วยสร้างเนื้อเยื่อ หลังจากนั้นจะนำเกล็ดเลือดเข้มข้นที่ได้ไปฉีดในส่วนข้อที่มีปัญหา ซึ่งวิธีนี้สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ และช่วยให้บริเวณที่บาดเจ็บมีอาการดีขึ้น

    การทำกายภาพบำบัด
    การทำกายภาพบำบัด เป็นวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการเน้นไปที่การบริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า และต้นขาด้านหลัง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพยุง พร้อมกับรับน้ำหนักของตัวเองได้มากขึ้น และช่วยแบ่งเบาน้ำหนักที่ถ่ายลงมายังข้อเข่าได้มากขึ้น ซึ่งสามารถเสริมสร้าง และฟื้นฟูกล้ามเนื้อหัวเข่าให้แข็งแรงมากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยบรรเทาอาการปวดหัวเข่าให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แถมยังช่วยป้องกันอาการปวดเข่าในระยะยาวได้อีกด้วย

    การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
    การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่ช่วยลดอาการปวดข้อได้ดีที่สุด เพราะว่าเป็นการผ่าตัดที่ใส่ข้อเข่าเทียมครอบข้อเข่าเดิมที่มีการเสื่อมสภาพและสึกหรอ ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีเทคโนโลยีในการผ่าเข่าที่ก้าวหน้า ส่งผลให้แผลของผู้ป่วยนั้นมีขนาดเล็ก ใช้เวลาในการผ่าเข่าสั้นลง และไม่ต้องพักฟื้นนาน จึงทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกถึงอาการปวดข้อเข่าที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แถมยังสามารถใช้งานข้อเข่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

    โรคข้อเสื่อมเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากขึ้นในผู้สูงอายุ เมื่อมีอายุมากขึ้นก็หนีไม่พ้นโรคข้อเสื่อม ไม่ว่าจะเร็วหรือช้าและเกิดขึ้นเมื่อใด โดยมากมักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดเข่า และปวดหลัง ซึ่งเป็นส่วนที่เกิดการเสื่อมมากที่สุดเนื่องจากข้อที่ต้องรับน้ำหนัก ของร่างกายโดยตรง เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพกแม้ว่าอาการของโรคข้อเสื่อม จะมีสาเหตุมาจากวัยที่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรมการใช้งานบริเวณข้อที่หนักเกินไป ซึ่งหากเกิดภาวะข้อเสื่อมแล้ว ก็ยากที่จะรักษาให้หายขาดหรือกลับคืนสู่สภาพปกติได้ ดังนั้นควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งผู้สูงอายุจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยเหลือตัวเองได้ต่อไป

    ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ mauicoastcondo.com

Economy

  • ก.ล.ต.เผยวิธีได้รับหุ้นไอพีโอชี้รายใหญ่ได้ตามวอลุ่ม
    ก.ล.ต.เผยวิธีได้รับหุ้นไอพีโอชี้รายใหญ่ได้ตามวอลุ่ม

    ก.ล.ต.เผยวิธีได้รับหุ้นไอพีโอชี้รายใหญ่ได้ตามวอลุ่ม อันเดอร์ไรท์ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน

    ก.ล.ต.เผยวิธีจัดสรรหุ้นไอพีโอ ชี้การกระจายหุ้นให้นักลงทุนรายใหญ่เป็นไปตามเกณฑ์ผู้จัดจำหน่ายจัดสรรตามวอลุ่ม ชี้ อันเดอร์ไรท์ มีหน้าที่เปิดเผยรายชื่อให้นักลงทุนรับทราบก่อนเข้าลงทุน

    สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้เผยแพร่บทความการจัดสรรหุ้นไอพีโอ และนำเสนอข้อมูลของผู้จัดจำหน่าย โดย ก.ล.ต. เผยว่า หุ้นที่ออกใหม่และเสนอขายต่อประชาชน (IPO) ยังเป็นที่สนใจของผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการออกหุ้น IPO ถือเป็นกลไกหนึ่งในการระดมทุนของภาคธุรกิจจากประชาชนเพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายกิจการ ขณะที่ประชาชนก็มีโอกาสลงทุนในหุ้นก่อนที่หุ้นนั้นจะมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การจัดสรรหุ้นเพื่อให้การระดมทุนสัมฤทธิผลจึงเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ

    บริษัทมหาชนจำกัดที่มีการออกและเสนอขายหุ้น IPO (issuer) จะร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รับจองและจัดสรรหุ้น ที่เรียกว่า “ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์” หรือ underwriter ในการกำหนดสัดส่วนการเสนอขายหุ้น IPO ให้กับผู้ลงทุนในกลุ่มต่างๆ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมทั้งด้านปัจจัยพื้นฐานและความเสี่ยงของบริษัทที่เสนอขาย เพื่อให้บริษัทระดมทุนได้ครบถ้วนบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และสามารถนำเงินไปใช้ตามแผนงานของบริษัทต่อไปตามที่ได้เปิดเผยไว้ในหนังสือชี้ชวนก.ล.ต.เผยวิธีได้รับหุ้นไอพีโอชี้รายใหญ่ได้ตามวอลุ่ม อันเดอร์ไรท์ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน

    การจัดสรรหุ้น IPO แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

    (1) กลุ่มที่บริษัท issuer เป็นผู้จัดสรร เช่น การจัดสรรให้กรรมการพนักงาน บุคคลที่มีความสัมพันธ์ (Related Persons: RP) หรือผู้มีอุปการคุณที่สร้างประโยชน์อย่างชัดเจนให้แก่บริษัท เป็นต้น เนื่องจากผู้ลงทุนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีความคุ้นเคยกับ issuer ก.ล.ต. จึงกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรหุ้น IPO สำหรับการจัดสรรให้กับผู้มีอุปการคุณ โดยมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขาย และเมื่อรวมกับกรรมการพนักงานและ RP จะต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขาย เพื่อให้มีการกระจายหุ้น IPO ให้กับผู้ลงทุนทั่วไปอย่างเพียงพอ ไม่กระจุกตัวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่ง สอดคล้องกับแนวทางการจัดสรรหุ้น IPO ของต่างประเทศ

    (2) กลุ่มที่ underwriter เป็นผู้จัดสรร กลุ่มนี้ถือเป็นสัดส่วนหลักของการจัดสรรหุ้น IPO โดยมี underwriter ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างบริษัทที่เสนอขายกับผู้ลงทุนทั่วไป และจะเป็นผู้พิจารณาจัดสรรหุ้น และให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุนแก่ผู้จองซื้อหุ้น ที่ผ่านมาการจัดสรรหุ้นของ underwriter จะเป็นการจัดสรรให้แก่ลูกค้าของ underwriter เป็นหลัก เช่น ลูกค้าที่ซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น โดยการจัดสรรจะเป็นไปตามปัจจัยหรือเงื่อนไข (criteria) ที่ underwriter กำหนด เช่น สัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากลูกค้าในการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น จึงมักพบว่าผู้ลงทุนรายใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์จะได้รับการจัดสรรหุ้น IPO

    ส่วนกรณีที่การระดมทุนของ issuer อยู่ในความสนใจของผู้ลงทุนสถาบัน (institutional investor) ทั้ง issuer และ underwriter ก็อาจจัดสรรหุ้น IPO ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ ในการจัดสรรหุ้น underwriter ต้องทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระและไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

    เช่น ห้ามจัดสรรหุ้นให้บริษัทย่อยของ issuer หรือกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของ underwriter รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับ underwriter ด้วย อย่างไรก็ดี underwriter อาจต้องรับซื้อหุ้นส่วนที่เหลือเข้าพอร์ตโฟลิโอของบริษัทเองด้วยหากไม่สามารถจัดสรรได้ตามจำนวนที่สัญญากำหนด

    ทั้งนี้ บริษัทที่เสนอขายหุ้น IPO และ underwriter จะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรหุ้น IPO ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์การจัดสรร ชื่อกลุ่มบุคคลที่จะได้รับจัดสรร และสัดส่วนหรือจำนวนหุ้น IPO ที่จะได้รับจัดสรรไว้ในหนังสือชี้ชวนอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบข้อมูล และนำไปประกอบการตัดสินใจลงทุน

    ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th

    สามารถอัพเดตข่าวสารเรื่องราวต่างๆได้ที่ : mauicoastcondo.com